Search

ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ และวิทยาศาสตร์ฉบับอินฟลูเอนเซอร์ - Sanook

scienceuna.blogspot.com
  • ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ ชื่อนี้เป็นที่รู้จักดีในบรรดาเด็กสายวิทย์ เขาคือนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักบรรยาย และอินฟลูเอนเซอร์สายวิทยาศาสตร์ยุคบุกเบิกเจ้าของเพจ facebook.com/ardwarong
  • วิทยาศาสตร์ฉบับ ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ ไม่ต้องการให้จดจำชื่อดาว ชื่อธาตุ แต่วิทยาศาสตร์คือเกราะป้องกันโรคภัย เกราะป้องกันการหลอกลวง และการตัดสินข้อเท็จจริงทุกอย่างในชีวิตบนหลักของวิทยาศาสตร์

ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ ชื่อนี้กลายเป็นความคุ้นชินในแวดวงของเด็กวิทย์ คนที่ชอบอัพเดทข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์มาหลายปี ซึ่งเมื่อพูดถึง วิทยาศาสตร์ คำนี้เป็นเหมือนยาขมของใครหลายคน (โดยเฉพาะเด็กสายศิลป์) แต่นั่นไม่ใช่กับ ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ และอินฟลูเอนเซอร์สายวิทยาศาสตร์ยุคบุกเบิกที่ใส่ความรู้วิทย์แน่น ๆ แบบที่คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายลงในเพจ www.facebook.com/ardwarong

วิทยาศาสตร์ในมุมของ ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ ไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องจดจำธาตุต่าง ๆ หรือรู้ว่าถัดจากดาวพลูโตคือดาวอะไร แต่วิทยาศาสตร์สำหรับเขา ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ คือวิชาพื้นฐานการเข้าใจชีวิตที่มนุษย์ทุกคนควรมีพื้นฐานติดตัว


ทำไมมนุษย์จึงจำเป็นต้องเรียนวิทยาศาสตร์

จำเป็นเลยครับ จำเป็นมาก ๆ ด้วย เพราะวิทยาศาสตร์ทำให้เรามีกระบวนการคิดเชิงเหตุผล โอกาสที่เราจะไม่ถูกหลอกจากการโฆษณาหลอกลวงต่าง ๆ มากมายก็เกิดจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เช่น ถ้ามีใครสักคนบอกว่าหินก้อนนี้ทำให้เราหายจากโรคได้น้ำอันนี้กินแล้วจะทำให้ฉลาดขึ้น วิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์จะช่วยให้เราตัดสินได้ว่า มันมีโอกาสเป็นจริงได้มากน้อยแค่ไหน ในชั้นที่หนึ่งวิทยาศาสตร์จึงเหมือนเกราะป้องกันโรคภัย เกราะป้องกันการหลอกลวงที่จะวิ่งเข้าหาเรา

การเรียนวิทยาศาสตร์หลัก ๆ แล้วไม่ได้ให้เราสนใจเรื่องการคิดสมการ แต่ให้เราสนใจเรื่องกระบวนการคิดมากกว่าว่าเขาคิดอย่างไร เราอาจจะไม่ต้องรู้ว่าลิ้นหัวใจชื่ออะไร ไม่ต้องรู้ว่าดาวพลูโตอยู่ใกล้กับดาวอะไร แต่เราต้องรู้ว่า เราจะตัดสินข้อเท็จจริงอย่างไร พื้นฐานของวิทยาศาสตร์คือตรงนี้ โดยเฉพาะ critical thinking การคิดที่ต้องมีหลายขั้นตอน กับการคิดละเอียด ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเราพยายามจะสอนกันอยู่แล้ว

เวลาเราจะบอกให้ใครสักคนทำงานละเอียด มันเป็นคำพูดที่ใครก็รู้ แต่การจะสอนให้เขาทำงานละเอียดรอบคอบได้ มันเป็นอะไรที่ยากมาก มันเป็นทักษะที่ต้องบ่มเพาะ แล้ววิทยาศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในทักษะที่บ่มเพาะให้คนละเอียด อย่างผมเองก็เป็นคนละเอียดมาก ละเอียดในระดับที่ทุกคนรำคาญเลยด้วยซ้ำ


วิทยาศาสตร์ในความรู้สึกนึกคิดของ ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ

วิทยาศาสตร์มันทำให้เรามีความสุขครับมีความสุขที่ได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเอกภพที่เราอยู่ หรือโลกที่เราอยู่ ธรรมชาติรอบตัวเราเป็นอย่างไร มนุษย์เราคืออะไรกันแน่ ทำไมเราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ดูจะสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้ ทำไมภาษาเราสลับซับซ้อน ที่ดาวดวงอื่นมีสิ่งมีชีวิตแบบเราไหมแล้วถ้ามีทำไมเราไม่เคยได้ยินเสียงเขา

ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะเจริญงอกงาม นักคิดเก่ง ๆ บนโลกเขาคิดถึงคำถามพวกนี้ แต่คำถามเหล่านี้ไม่เคยได้รับคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์เลย ผมเลยรู้สึกว่าวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เติมเต็มบางอย่างในใจมนุษย์

หลังจากเราทำมาหากินได้พอสมควรแล้ว เราจะวิ่งกลับมาหาคำถามเหล่านี้ เราอยากรู้ว่าหลังจากที่เราหมดลมหายใจสุดท้ายไป เราจะเป็นอย่างไร เราอยากรู้ว่าโลกหน้าเป็นอย่างไรเราอยากรู้อะไรอีกมากมาย แม้แต่เรื่องผี เรื่องวิญญาณ เราอยากรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร จริง ๆ มันเป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์อยากรู้ แต่เราอาจจะยังไม่สามารถตอบได้ว่ามันมีจริงไหม

ทำไมวิทยาศาสตร์จึงต้องสื่อสาร และทำไมป๋องแป๋งจึงอยากทำงานสื่อสารวิทยาศาสตร์

สมัยก่อนผมเกลียดการวาดรูปมาก ผมเดินไปบอกครูว่าผมเกลียดการวาดรูปมาก ผมวาดไม่เหมือนใคร ผมวาดไม่เหมือนแบบ อาจารย์บอกว่า ‘วาดให้สวย เขาไม่ได้วาดให้เหมือน ถ้าจะให้เหมือนเขาถ่ายรูปเอา’ คำพูดนี้เหมือนได้แคะอะไรสักอย่างจากใจผมออกมา แล้วผมก็รักการวาดรูปตั้งแต่วันนั้นเลย ผมเรียนกับครูสอนภาษาไทย สอนสนุกมาก สนุกในแบบที่โคตรสนุกเลย

เรียกว่าชีวิตผมได้เจอครูดี ๆ มา ก็เลยเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ผมอยากสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผมไม่ได้สนใจว่าคนที่ผมสอน หรือสื่อสารด้วยเขาจะต้องมาเรียนวิทยาศาสตร์ แต่เขาควรจะได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ เขาอาจจะเรียนภาษา เรียนด้านศิลปะ เป็นจิตรกรก็ได้ แต่เขาต้องสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์บ้างในระดับพื้นฐาน

อีกอย่างที่มาทำเพจวิทยาศาสตร์และสอนคอร์สต่าง ๆ เพราะผมรู้สึกว่าในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ มันมีอะไรมากกว่าการทำข้อสอบ มีอะไรมากกว่าความเคร่งเครียดซึ่งอาจจะทำให้คนไม่รู้สึกสนุกกับวิทยาศาสตร์ ผมจึงพยายามหาวิธีเล่าวิทยาศาสตร์ในรูปแบบต่าง ๆ มาโดยตลอด

จริง ๆ ผมเติบโตมาจากการบรรยายก่อนทำเพจ ผมไปบรรยายตามที่ต่าง ๆ ให้เด็กรู้สึกว่า วิทยาศาสตร์น่าสนใจอย่างไร และก็มีแลกเปลี่ยนแนะนำคุณครูว่า เขามีวิธีอย่างไร ผมมีวิธีอย่างไรที่จะสอนเด็กให้สนุกขึ้น

ส่วนเพจมาทีหลังผมทำเพจมาประมาณ 6-7 ปี แรก ๆ เลยก็ไม่ได้ตั้งใจทำเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เปิดไปอย่างนั้น แล้วปรากฏว่าเห็นเพื่อนเขาเล่าเรื่องวิทยาศาสตร์แล้วรู้สึกว่าคนตอบรับดี และเราก็สนใจเรื่องนี้อยู่แล้วก็เลยลองทำ กลายเป็นว่ามีคนสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์มากกว่าที่เราคิดไว้


มีเด็ก ๆ เคยถามไหมว่าเรียนวิทยาศาสตร์จบไปทำอะไร

ถามอยู่เรื่อย ๆ ครับ เป็นคำถามที่ดีด้วย ผมดีใจที่เด็กถาม เพราะว่าถ้าเขาเรียนแล้วไม่ถาม ก็เท่ากับว่าเขาเรียนไปงั้น ๆ เขาต้องถาม เรียนไปทำไม อย่างที่บอกไปแล้วข้อหนึ่ง อย่างที่สองคือ การเรียนวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐานให้กับการสร้างสรรค์ เช่น ถ้าเราอยากจะสร้างอาคารสักแห่งหนึ่งให้มันคงทนแข็งแรง ถ้าเราไม่รู้จักพื้นฐานวิทยาศาสตร์เลยแล้วเราจะสร้างอาคารได้อย่างไรเพราะเราจะไม่สามารถคำนวณ หรือมีความเข้าใจเกี่ยวกับวัสดุเลยวิทยาศาสตร์จึงเป็นพื้นฐานให้กับการสร้างสรรค์ทุกอย่าง

ทำไมหลายคนคิดว่าเด็กสายวิทย์คือเด็กเก่ง ห้องวิทย์คือห้องเด็กเก่ง

ผมไม่รู้ว่าจริงแค่ไหน แต่ถ้าจริง ผมว่าความคิดนี้น่าจะเริ่มผ่อนคลายไปเยอะแล้ว ทุกวันนี้เด็กที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยมีคะแนนเป็นอันดับหนึ่งระดับประเทศเป็นสายอื่น ไม่ใช่สายวิทย์แน่นอน และก็หลายปีด้วย

ส่วนตัวคิดว่าที่สมัยก่อนคนคิดแบบนั้นอาจจะเกี่ยวกับเรื่องของโครงสร้างงานในสมัยก่อนด้วย ก่อนหน้านี้ไทยขาดแคลนวิศวกร ตำแหน่งงานเยอะ เรียนวิทย์เป็นวิศวกรคือมันดูมีทางไปเยอะ แต่ก่อนเรายังนึกภาพไม่ค่อยออกว่า เรียนจบสายนิเทศศาสตร์มาจะทำอะไรได้บ้าง จนกระทั่งวงการโทรทัศน์เติบโต เราจึงได้เห็นว่ารายได้จากวงการโทรทัศน์มันเยอะแค่ไหน ผมว่าโครงสร้างความคิดแบบนี้มันเป็นโดยระบบ

สำหรับเด็กสายวิทย์เองคิดว่าคณิตศาสตร์ยากไหม

คณิตมันยากอยู่แล้วครับ แต่ความยากนั้นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่ามันยากจากอะไร ผมมองว่าความยากของคณิตศาสตร์มาจาก 2 อย่าง หนึ่ง คือ เป็นศาสตร์ที่เราไม่สามารถคิดชั้นเดียวแล้วตอบได้ทันที ไม่ว่าคุณจะความจำดีแค่ไหน

ทุกวันนี้ 3+7 เป็นเท่าไร เราไม่ได้เจอโจทย์แบบนั้นแล้ว ความสุขมันหายไปเมื่อมีตัวอักษรโผล่เข้ามา เช่น 3X+7=5 ให้หา X โจทย์นี้เราแก้ชั้นเดียวไม่ได้แล้ว เราต้องคิดหลายบรรทัด แต่พอมนุษย์เราเจอการคิดที่ซับซ้อนขึ้น เราจะเริ่มรู้สึกว่า ‘มันยาก’

ความยากเกิดจากอะไร คำตอบคือ ในการคิดแต่ละขั้นเรามีโอกาสผิด เราต้องมีสมาธิ ละเอียดอ่อนพอที่จะทำให้มันไม่ผิด ซึ่งอันที่จริง มันไม่ใช่แค่คณิตศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์ แต่การจะเขียนหนังสือให้ดีก็มีความยาก มีหลายขั้นตอน ผมเลยมองว่า ความยากส่วนหนึ่งก็อยู่ที่คณิตศาสตร์มีขั้นตอนเยอะ ต้องอาศัยความละเอียด แต่ส่วนหนึ่งคณิตศาสตร์อาจจะยากตรงที่ความเป็นนามธรรม


นักวิทยาศาสตร์กลัวผีได้ไหม

กลัวครับ ผมกลัว แต่ผมไม่เชื่อเรื่องผีครับ เวลาเราดูหนัง เราไม่เชื่อว่ามีมังกร เราไม่เชื่อว่ามีพ่อมด แต่เราก็สนุก ตื้นเต้น กลัวได้ไม่ใช่เหรอครับ เรื่องผีก็เหมือนกัน เรากลัวสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงได้ครับ มนุษย์เป็นอย่างนั้น เราไม่เคยตาย แล้วทำไมเรากลัวตาย มนุษย์กลัวสิ่งไม่มีจริงได้ มนุษย์กลัวสิ่งที่ไม่เคยเจอได้ อันนี้คือพื้นฐานของมนุษย์ ผมไม่เชื่อว่าผีมีจริง แต่ว่าเวลาเราดูหนัง เราคิดจินตนาการได้ว่า ในนั้นมันมี เรากลัวในนั้นได้ เราอาจจะเชื่อมโยงออกมาข้างนอกด้วยจินตนาการของเราได้ว่า ถ้ามันมีอย่างนั้นจะเป็นยังไง ผมก็เลยกลัว แต่ไม่เชื่อว่ามี

จริงไหมที่ว่าเพจที่ให้แต่ความรู้ ไม่สามารถสร้างรายได้

การสร้างของที่มีคุณค่า กับการตักตวงคุณค่าจากของนั้นๆ มันเป็นคนละเรื่องกัน หมายความว่า วันหนึ่งเราอาจจะทำงานหนักมากเลย แต่เราได้รับคุณค่าจากงานที่เราทำแค่ไหนนั่นคือคำถาม มันแตกต่างกัน

บางคนอาจจะเหนื่อยจากการทำอาหารทั้งวัน อยู่หน้าเตาทั้งวัน เหนื่อยกับการเขียนหนังสือทั้งวัน หรือการเหนื่อยกับการรีวิวที่เที่ยวทั้งวัน ความเหนื่อยอาจจะเท่า ๆ กัน แต่ต่างกันที่ว่าเราจะสามารถตักตวงคุณค่าจากความเหนื่อยนั้นได้แค่ไหน การทำเพจวิทยาศาสตร์ หรือเพจให้ความรู้นี่ก็เหมือนกัน การเปลี่ยนเพจเพจหนึ่งให้สามารถสร้างคุณค่าให้กับเจ้าของได้เป็นเหมือนศิลปะที่ต้องมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไร

แล้วการเขียน การทำเพจความรู้มันสร้างรายได้ได้ไหม ผมว่าทำได้ แต่ต้องอาศัยศิลปะ วิธีคิดอีกชนิด ซึ่งคนที่ถนัดเล่าความรู้อย่างผมอาจจะไม่ถนัดคิดแบบนั้น และด้วยความที่ผมไม่ถนัด ผมจึงอาจจะคิดแตกต่าง ตอนนี้สำหรับผมการทำเพจมันไม่ใช่เรื่องของยอดไลก์แล้ว แต่เป็นเรื่องว่าเรายืนอยู่ตรงไหน ถ้าชัดเจนว่าเพจเรายืนอยู่ตรงนี้ ก็ทำพื้นที่ที่เรายืนให้แข็งแรงแม้จะเป็นกลุ่ม niche (กลุ่มเฉพาะ) ก็ตาม

business model ที่ยั่งยืนที่สุดจริง ๆ ตอนนี้ของเพจคือ ขายของของตัวเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาลงโฆษณา แต่เราโฆษณาสิ่งที่เรามีก่อนเลย เช่น ผมมีหนังสือขาย ก็ลงของตัวเองขายไปด้วย และบวกกับรับจ้างเขียนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ตามที่เราชำนาญ ถ้าไม่มีตรงนี้ก็เหนื่อยอยู่ เพราะตอนนี้ผมมีทีมเล็ก ๆ ซึ่งไม่ใช่พนักงานประจำ พนักงานประจำมีผมคนเดียว ก็พยายามทำให้มันอยู่ได้

วิทยาศาสตร์ในเมืองไทยยังถือเป็นความ niche เฉพาะกลุ่มอยู่ไหม

ถ้ามองเป็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ก็มักจะกลายเป็น niche หมด ผมเคยลองไปเปิดดูกูเกิลเทรนด์ ว่าในแต่ละปีคนเขาสนใจอะไร ถ้าไม่ใช่ละคร ก็จะเป็นกีฬา หรือก็เป็นข่าวสังคมการเมือง แต่ข่าวความรู้ไม่มี ซึ่งไม่ใช่แค่เมืองไทย ในต่างประเทศก็เป็น เรียกว่าเป็นปกติของมนุษย์ดีกว่า

แต่ในความ niche ก็จะทำให้เรามีคอร์ด้านวิทยาศาสตร์ติดตามเรา เอนเกจดีโดยแทบจะไม่ต้องเสียงเงินโฆษณาในเฟซบุ๊กตอนนี้คนที่ติดตามเพจก็จะวัยหลังมหาวิทยาลัย เรียนจบใหม่ ๆ และก็แฟนเพจในระดับมหาวิทยาลัยจะเยอะที่สุด


คิดอย่างไรที่เด็ก ๆ มองว่าพี่ป๋องแป๋งเป็นไอดอลด้านวิทยาศาสตร์ หรืออยากมีครูแบบพี่ป๋องแป๋ง

ผมว่าเขาน่าจะไปหาไอดอลที่ดีกว่านี้ครับ (หัวเราะ) ผมบอกเขาอย่างนี้จริง ๆ ผมว่ามันมีคนที่ดีกว่าผม เก่งกว่าผม เล่าเรื่องได้ลึกซึ้ง สนุก ละเอียดอ่อน หารายได้เก่ง ขยัน กว่าผมหลายคน ไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ ด้วย เยอะแยะเลย แต่ก็ดีใจที่เขาเห็นผมเป็นไอดอล

ตอนนี้วิทยาศาสตร์ในเมืองไทยเติบโตไปอย่างไรแล้วบ้าง

เดี๋ยวนี้ผมว่าดีขึ้นเยอะ กระทรวงเองก็มีงบที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ มีตำแหน่งเปิดรับเยอะขึ้น และนำวิทยาศาสตร์เข้าไปใกล้ชิดคนทั่วไปมากขึ้น อย่างที่เชียงใหม่เองที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เขาก็เปิดงานให้ความรู้ประชาชนทุกวันเสาร์ จากเดิมที่ไม่มี แล้วก็มีหอดูดาวที่แม่ริม และกำลังจะมีกล้องโทรทัศน์วิทยุที่ใหญ่มาก อยู่ตรงห้วยฮ่องไคร้ จริง ๆ วงการวิทยาศาสตร์เมืองไทยเติบโต อาจจะไม่ค่อยทันใจเท่าไร แต่ถือว่าเป็นเรื่องดีที่วงการวิทยาศาสตร์เมืองไทยยังคงเติบโตเรื่อยๆ

ขอบคุณสถานที่ : OOObkk cafe




June 13, 2020 at 03:12PM
https://ift.tt/3hiCjzX

ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ และวิทยาศาสตร์ฉบับอินฟลูเอนเซอร์ - Sanook

https://ift.tt/2wcicAM


Bagikan Berita Ini

0 Response to "ป๋องแป๋ง-อาจวรงค์ จันทมาศ และวิทยาศาสตร์ฉบับอินฟลูเอนเซอร์ - Sanook"

Post a Comment

Powered by Blogger.