ทีมนักวิจัยทั่วโลกกำลังเร่งคิดค้นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพพอที่จะจัดการกับโควิด-19
นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรบอกว่านี่เป็น "ความพยายามร่วมที่เร่งด่วนที่สุดในชั่วอายุเรา"
แต่นอกจากเรื่องวิทยาศาสตร์ในการคิดค้นวัคซีนอันซับซ้อนแล้ว การจะส่งวัคซีนไปให้ถึงคนทั้ง 7 พันล้านคนบนโลกไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ที่สหราชอาณาจักร ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาร์เวลล์ (Harwell Science Campus) ซึ่งอดีตเป็นฐานทัพอากาศอังกฤษ จะเป็นที่ตั้งของศูนย์นวัตกรรมและการผลิตวัคซีนของสหราชอาณาจักร (UK's Vaccines Manufacturing and Innovation Centre)
เหมือนอบเค้ก
นายแมตธิว ดูชาร์ส ประธานบริหารของศูนย์นวัตกรรมและการผลิตวัคซีนของสหราชอาณาจักร หวังว่าพวกเขาจะสามารถผลิตวัคซีนพร้อมแจกจ่ายในปีหน้า ทั้ง ๆ ที่ปกติแล้วต้องใช้เวลาถึงสิ้นปี 2022
เขาบอกว่านี่เป็นภาระอันหนักอึ้ง เพราะจะต้องคิดค้นวัคซีนเพื่อคนทั้งโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศ และต้องทั้งเร็วและมีประสิทธิภาพด้วย
"เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ เหมือนคุณอบเค้กอยู่ที่บ้าน คุณจะใช้เวลากี่ชั่วโมงก็ได้เพื่อเตรียมเค้กให้สมบูรณ์แบบ แต่ตอนนี้คุณต้องไปอบเค้ก 70 ล้านชิ้น และทุกชิ้นต้องสมบูรณ์แบบด้วย ดังนั้นมันก็เป็นความท้าทายที่ไม่ธรรมดา"
มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดจัดหาพื้นที่สำหรับห้องทดลองที่จะใช้ผลิตวัคซีนเพียงพอแล้วก่อนที่จะรู้ผลลัพธ์การทดลองวัคซีนในระดับโลกด้วยซ้ำ
ในที่สุดแล้ว มนุษยชาติต้องผลิตวัคซีนโควิด-19 หลายชนิดเป็นจำนวนหลายพันล้านเข็ม องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (The Vaccine Alliance หรือ Gavi) ได้ออกมาเตือนให้ประเทศต่าง ๆ เตรียมตัวได้แล้วว่าจะจัดส่งวัคซีนไปให้คนอย่างทั่วถึงได้อย่างไร
อย่างไรก็ดี การร่วมมือในระดับโลกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะประเทศที่ร่ำรวยหลายประเทศก็ได้ทำข้อตกลงกับบริษัทผู้ผลิตยาแล้วว่าจะได้ส่วนแบ่งวัคซีนสำหรับประเทศตัวเองหากถึงวันที่คิดค้นวัคซีนสำเร็จ
ก้าวข้ามความเห็นแก่ตัว
เซ็ธ เบิร์กลีย์ ประธานบริหารขององค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน บอกว่า อุปสรรคใหญ่ข้อหนึ่งคือความคิดที่มีต่อวัคซีนในลักษณะชาตินิยม
เขาบอกว่าต้องมองปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนรวมของทุกประเทศในโลก เพราะไม่มีประโยชน์เลยหากประเทศหนึ่งมีวัคซีน แต่ถูกรายล้อมไปด้วยประเทศที่ยังมีไวรัสแพร่ระบาดอยู่
"เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคิดว่า เรายังไม่ปลอดภัย นอกเสียจากคนอื่นจะปลอดภัยด้วย"
นอกจากเรื่องการแจกจ่ายแล้ว ยังมีความกังวลว่าจะมีแก้วสำหรับขวดบรรจุวัคซีนไม่เพียงพอด้วย
และนอกจากแก้ว ก็ต้องมีตู้เย็นเพียงพอเช่นกันเพราะวัคซีนส่วนใหญ่ต้องเก็บรักษาในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ
แช่เย็น
ศ. โทบี ปีเตอร์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการขนส่งและคลังสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม กำลังช่วยองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน ในด้านการวางแผนว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งวัคซีนที่ต้องแช่เย็นในประเทศที่กำลังพัฒนาได้อย่างไร
เขาบอกว่าไม่ใช่แค่ต้องหาตู้เย็นสำหรับวัคซีนเท่านั้น แต่ยังต้องคิดถึงแท่นที่วางบนเครื่องบิน ยานพาหนะที่ใช้ขนส่งวัคซีนไปตามศูนย์ในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงมอเตอร์ไซค์และคนที่จะนำวัคซีนไปส่งยังชุมชนด้วย
ศ. ปีเตอร์ส บอกว่า เขาได้พูดคุยกับบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกแล้วว่าจะสามารถยืมระบบการจัดเก็บและขนส่งของเย็นมาช่วยในปฏิบัติการครั้งนี้ได้ไหม
และนอกจากเรื่องการขนส่งแล้ว ใครจะได้วัคซีนก่อนก็เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ชวนปวดหัวด้วย
ดร. ชาร์ลี เวลเลอร์ หัวหน้าด้านวัคซีนของเวลล์คัม ทรัสต์ มูลนิธิเพื่อการวิจัยในสหราชอาณาจักร บอกว่าประเทศต่าง ๆ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าใครที่ต้องการวัคซีนก่อน คนกลุ่มไหนที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากมีแนวโน้มสูงว่าจำนวนคนที่ต้องการวัคซีนจะสูงกว่าจำนวนวัคซีนที่ผลิตได้จริง
ดร. เวลเลอร์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การมีระบบสาธารณสุขที่แข็งแรงและบุคลากรที่มีความสามารถจะเป็นส่วนสำคัญในการให้วัคซีนกับกลุ่มเป้าหมาย
นักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อว่าจะสามารถคิดค้นวัคซีนสำเร็จเข้าวันหนึ่ง แต่พวกเขาก็กังวลมากเช่นกันว่าจะนำวัคซีนเหล่านี้ไปถึงคนเป็นพันล้านคนบนโลกได้อย่างไร
August 14, 2020 at 08:07AM
https://ift.tt/33Znoq2
โควิด-19: เราจะฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้กับคนทั้งโลกได้อย่างไร - บีบีซีไทย
https://ift.tt/2wcicAM
Bagikan Berita Ini
0 Response to "โควิด-19: เราจะฉีดวัคซีนไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ให้กับคนทั้งโลกได้อย่างไร - บีบีซีไทย"
Post a Comment