Search

วิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชน : ปิงปองช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างไร - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

scienceuna.blogspot.com

วันอาทิตย์ ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563, 06.00 น.

ปัจจุบันโลกมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ในประเทศไทยเองก็เช่นกัน คนไทยเราเคยมีอายุเฉลี่ยราว 45 ปี ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 64 ปี ขณะที่ประชากรสูงอายุมากขึ้น สังคมก็พบกับปัญหาของโรคเรื้อรังที่เกิดจากความเสื่อมมากขึ้น ภาวะสมองเสื่อมจัดได้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดอันหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุทั่วโลกมีความพิการและพึ่งตนเองไม่ได้ อัตราความชุกของภาวะสมองเสื่อมจะเพิ่มมากขึ้นในประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยในประเทศไทยพบได้ราวร้อยละ 2-4 อย่างไรก็ดี ประชากรที่อายุน้อยกว่านี้ก็สามารถพบปัญหาภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน ซึ่งภาวะนี้จะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปก่อนที่จะแสดงอาการอย่างชัดเจนเมื่ออายุมากขึ้น

เป็นที่แจ้งชัดว่า การออกกำลังกายช่วยทำให้สุขภาพร่างกายของเราดีขึ้นได้ คนส่วนใหญ่มักนึกถึงการออกกำลังกายเพื่อกระชับรูปร่างกล้ามเนื้อ เพื่อการทำงานของหัวใจ หลอดเลือดหรือการหมุนเวียนเลือด น้อยคนที่คิดว่าจะต้องออกกำลังเพื่อสมอง จากการศึกษาของ นายแพทย์เดเนียล เอเมน จิตแพทย์ชื่อดังและนักวิจัยด้านประสาทวิทยา ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ภาพสแกนของสมอง ได้ชี้แจงว่า การออกกำลังกายโดยทั่วไปสามารถกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนที่ช่วยให้สมองของเราอ่อนเยาว์ขึ้น โดยการศึกษาของเขาพบว่า การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการหมุนเวียนเลือดในสมองและทำให้เซลล์สมองมีสุขภาพดี คนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ได้ออกกำลังกายเพียงครั้งละครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง จะลดโอกาสเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ถึง 50% เพราะการออกกำลังกายจะช่วยปกป้องเซลล์สมองจาก สารพิษ อนุมูลอิสระ ช่วยในการซ่อมแซมดีเอ็นเอของเซลล์ที่เสียหาย ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลงลืม หรือสมองเสื่อม ตลอดจนลดภาวะความแปรปรวนทางอารมณ์ในกลุ่มคนที่อายุมากกว่า 70 ปี (Amen, 2005)

เราอาจประเมินการทำงานของสมองที่ดีได้จากความสามารถในการเรียนรู้และจดจำ โดยกระบวนการนี้ต้องอาศัยการเชื่อมโยงการทำงานของเซลล์ประสาทสมองทั้งหลายที่ต่อเนื่องยาวนานหรือที่เราเรียกว่า “Long term potentiation” เมื่อสมองมนุษย์เราทำงานเพื่อเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ สารเคมีที่เรียกว่า “กลูตาเมท” จะเกิดขึ้นมากมายบริเวณจุดเชื่อมต่อเซลล์ประสาทในสมอง (ไซเนปส์) นายแพทย์จอห์น เรเทย์พบว่าการออกกำลังกายทำให้ระดับของกลูตาเมทและโปรตีนที่ชื่อว่า Brain derived neurotrophic factor เพิ่มขึ้น สารทั้งสองนี้มีความสำคัญต่อการมีชีวิตและการสร้างจุดเชื่อมต่อเซลล์ประสาทใหม่ เพื่อการทำงานและเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ (Ratey, 2011)

นายแพทย์เดเนียล เอเมน ยังได้ให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ และเขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ “Making a good brain great” ว่า การเล่นปิงปองสามารถช่วยเพิ่มการทำงานของระบบสมองได้อย่างไร เขาเรียกกีฬาปิงปองว่า “Best brain sport” กีฬานี้นอกเหนือจากเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างดีแล้ว ยังสามารถออกกำลังได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่างของร่างกาย ซึ่งดีอย่างมากสำหรับการฝึกการตอบสนองของประสาทแบบที่เรียกว่ารีเฟลกซ์ และก่อให้เกิดการทำงานประสานกันของตาและมือ (Hand eye coordination) กระบวนการนี้มีความสำคัญยิ่งในการทำงานที่ใช้ทักษะของมนุษย์ ซึ่งจะได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงวัยเด็ก กลไกนี้มีการทำงานที่ซับซ้อนอย่างมากโดยสมองส่วน parietal cortex ที่อยู่ถัดลงไปด้านท้ายของกระหม่อมจะประสานสัญญาณภาพที่ถ่ายทอดจากการมองเห็นของตา คิดประมวลและส่งคำสั่งไปยังระบบประสาทสั่งการเพื่อให้แขนหรือมือเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ต้องการ

ในขณะที่สมองส่วน cerebellum, brain stem และไขสันหลัง จะควบคุมสมดุลและการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย นั่นทำให้เราต้องบริหารสมองหลายๆ ส่วนพร้อมกันขณะที่เราตีและรับลูกปิงปองแต่ละครั้งในเกมการเล่นเรายังต้องวางแผนกลยุทธ์ที่จะบุกฝ่ายตรงข้าม ขณะที่จังหวะรับต้องสังเกตและวิเคราะห์วิถีการเคลื่อนที่แนวโค้ง ลักษณะการหมุนของลูก เพื่อเตรียมรับลูกและวางองศาของหน้าไม้ปิงปองได้ถูกต้อง น่าแปลกใจอย่างมาก ลูกปิงปองที่พุ่งข้ามโต๊ะกลับไป-กลับมาในระหว่างการแข่งขันอาจเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเกินกว่า 100 กม./ชม.นั่นหมายความว่า ผู้เล่นปิงปองมีเวลาให้กับกลไกการทำงานที่แสนซับซ้อนของสมอง คิด ตัดสินใจ และสั่งการเพียงชั่วแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น เหนือกว่าการทำงานที่สมบูรณ์แบบของเครื่องจักร เร็วกว่า แม่นยำและเที่ยงตรง

จากข้อมูลดังกล่าวอาจทำให้หลายๆท่านกำลังนึกถึงภาพของทอม แฮงส์ นักแสดงในเรื่องฟอร์เรส กัม หรือ “อัจฉริยะปัญญานิ่ม”ในฉากที่เขาถือไม้ปิงปองในมือซ้ายและมือขวาเพื่อตีปิงปองครั้งละสองลูก สายตาแน่วแน่จับจ้องอยู่ที่ลูกปิงปอง เคลื่อนที่กระดอนกำแพงกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ แขนและมือของอัจฉริยะ เคลื่อนที่เป็นจังหวะอย่างไม่ยากเย็น ในสายตาไม่มีอะไร นอกจากสมาธิและการผ่อนคลาย ขณะที่สมองทำงานจัดเรียงอย่างเป็นระบบ

นักวิจัยชาวญี่ปุ่น (Mori และ Sato, 2004) ได้ทำการวิจัยกับคนปกติและคนป่วยทางสมองที่เล่นปิงปองเป็นจำนวนมาก และพบว่าการเล่นปิงปองมีผลต่อสมองด้วยกัน 3 ประการ คือ

1.ทำให้โลหิตไหลเวียนในสมองเพิ่มขึ้น เมื่อเล่นปิงปองเป็นเวลา 10 นาที

2.ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองดีขึ้น

3.ช่วยฟื้นฟูสมองให้ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับสมอง เมื่อฝึกเล่นเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน

ผลจากการศึกษานี้ ทำให้เขาได้บัญญัติศัพท์ซึ่งไม่เคยมีแพทย์คนไหนได้ยินมาก่อนว่า “clinical brain sports medicine” ซึ่งหมายถึง กีฬาที่เป็นยารักษาอาการทางสมอง นั่นคือกีฬาปิงปองจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองเราได้

เอกสารอ้างอิง

1.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ 2552. ภาวะสมองเสื่อมตอน1 อาการที่น่าเป็นห่วงของผู้สูงอายุ http//www.thaihealth.or.th

2.Amen Danial G. 2005. Making a good brain great. Harmony Books, New York; p.125,126.

3.Ratey John. 2011. Brain benefit of exercise. Http//https://ift.tt/2DxCqbI

4.Mori Teruaki, Sato Tomohiko 2004. Clinical brain sport medicine. Baiomekanizumu. Vol.17; p1-8.

ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)




September 06, 2020 at 06:00AM
https://ift.tt/3jRrvt2

วิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชน : ปิงปองช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างไร - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/2wcicAM


Bagikan Berita Ini

0 Response to "วิทยาศาสตร์ สำหรับเยาวชน : ปิงปองช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างไร - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.