นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกมา การเดินทางโดยเครื่องบินกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยากเนื่องจากมาตรการปิดพรมแดนในหลายประเทศ และเป็นเรื่องน่ากลัวในกรณีของผู้ที่สามารถเดินทางได้ เพราะผู้โดยสารแทบจะรักษาระยะห่าง 2 เมตรไม่ได้ ขณะที่ใช้เวลาเป็นชั่วโมงอยู่ในสถานที่คับแคบและอากาศหมุนเวียนอยู่แต่ภายในห้องโดยสาร ส่งผลให้ปริมาณการเดินทางทางอากาศและจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างรุนแรง
แต่ผู้เชี่ยวชาญบางราย แย้งว่า ที่ผ่านมา มีกรณีการแพร่กระจายเชื้อในห้องโดยสารของเครื่องบินที่เกิดขึ้นจริงไม่กี่กรณีเท่านั้น ซึ่งชี้ให้เห็นว่า โอกาสการติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างโดยสารบนเครื่องบินนั้นค่อนข้างต่ำจริงๆ
สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น อ้างถึงข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสารและลูกเรือจำนวน 328 คนที่บินจากสหรัฐฯ ไปไต้หวัน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม โดยทุกคนถูกตรวจหาการติดเชื้อเมื่อเดินทางถึงที่หมายทันที่ โดยผลที่ออกมาคือ มีผู้โดยสารจำนวน 12 คนเป็นผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ และผู้โดยสารที่เหลือรวมทั้งลูกเรือไม่ติดเชื้อใดๆ เลย
และแม้จะมีการยืนยันการติดเชื้อของผู้โดยสารทางเครื่องบินบ้างในช่วงก่อนหน้านี้ อัตราการแพร่กระจายของไวรัสนั้นอยู่ในระดับต่ำ
การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open แสดงถึงหลักฐานที่ระบุว่า มีผู้โดยสารบนเที่ยวบินจากกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ไปยังนครแฟรงค์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อมีนาคม ติดเชื้อโคโรนาไวรัสจากนักท่องเที่ยวบนเครื่องซึ่งติดเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวจากผู้จัดการโรงแรมรายหนึ่งที่ภายหลังพบว่าป่วยเป็นโควิด-19 เช่นกัน
ขณะเดียวกัน มีรายงานการว่าผู้โดยสารรายหนึ่งบนเที่ยวบินจากอังกฤษไปยังเวียดนาม เมื่อวันที่ 2 มีนาคม แพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้โดยสารอีก 14 คนและลูกเรือ 1 คน โดยกรณีนี้ถือเป็นกรณีเดียวของการแพร่เชื้อสู่คนหลายคนบนเครื่องบินโดยสาร
บันทึกเหตุการณ์แพร่เชื้อบนเที่ยวบินที่มีไม่กี่กรณีนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อบนเครื่องบินมีอยู่ต่ำ โดยเฉพาะเมื่ออากาศบนเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ นี้จะถูกฟอกให้สะอาดเพื่อหมุนเวียนในห้องโดยสารทุก 2-3 นาที ขณะที่เครื่องบินส่วนใหญ่มีการติดตั้งเครื่องกรองอากาศที่สามารถดักจับอนุภาคต่างๆ ได้ถึง 99.99 เปอร์เซ็นต์ด้วย
นอกจากนั้น นับตั้งแต่เกิดการระบาดมา สายการบินทุกแห่งได้ริเริ่มมาตรการใหม่ๆ เพื่อป้องกันการระบาด เช่น การบังคับทั้งผู้โดยสารและลูกเรือให้สวมใส่วัสดุปิดใบหน้า การตรวจอุณหภูมิก่อนขึ้นเครื่อง และกระบวนการทำความสะอาดอย่างละเอียดในห้องโดยสาร รวมทั้งการจำกัดการเคลื่อนย้ายไปมาในระหว่างที่เครื่องบินอยู่ด้วย
อาร์โนลด์ บาร์เน็ตต์ ศาสตราจารย์ด้านสถิติจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) บอกกับผู้สื่อข่าว CNN Travel ว่า ในการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ ตนพยายามคำนวณความน่าจะเป็นของการติดเชื้อไวรัสนี้ระหว่างการบินระยะทางสั้นๆ ในสหรัฐฯ และพบว่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อในเที่ยวบินที่มีผู้โดยสารเต็มอยู่ที่ 1 ใน 4,300 ขณะที่ตัวเลขนั้นเปลี่ยนเป็น 1 ใน 7,700 ในกรณีของการทิ้งที่นั่งตรงกลางให้ว่างไว้
ศาสตราจารย์ บาร์เน็ตต์ ระบุว่า หากการติดเชื้อบนเครื่องบินจะเกิดขึ้นได้ง่ายดาย สาเหตุจะต้องเป็นการที่มีผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความสามารถแพร่เชื้อได้ ในระดับที่การสวมใส่หน้ากากยังไม่สามารถป้องกันได้ และอยู่ใกล้ผู้อื่นมากจนหลีกเลี่ยงการติดเชื้อได้ยาก
อย่างไรก็ดี ศาสตราจารย์ บาร์เน็ตต์ เตือนว่า ผู้โดยสารที่นั่งริมทางเดินมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนอื่นเนื่องจากจะเข้าใกล้ผู้อื่นง่ายมากกว่าผู้ที่นั่งริมหน้าต่าง
และแม้ว่าในทางสถิติแล้ว ความเสี่ยงของที่นั่งต่างๆ บนเครื่องจะไม่ต่างกันมากมายก็ตาม ศาสตราจารย์ บาร์เน็ตต์ สนับสนุนนโยบายทิ้งที่นั่งตรงกลางให้ว่างเอาไว้ ดังเช่นที่ สายการบินเดลตา แอร์ไลน์ส สายการบิน เซาธ์เวสต์ แอร์ไลน์ส และสายการบิน เจ็ตบลู แอร์เวย์ส ดำเนินการไปแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เชี่ยวชาญรายนี้แนะนำว่า ผู้ที่เดินทางโดยเครื่องบินควรระวังตัวมากขึ้น เช่น การสวมใส่หน้ากากพลาสติกคลุมหน้า หรือ Face Shield ซึ่งสามารถป้องกันทั้งดวงตา จมูก และปาก ทำให้ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้มากกว่า
คำแนะนำนี้ได้รับการสนับสนุนจากงานศึกษาอื่น เช่น งานวิจัยร่วมของมหาวิทยาลัยแห่งเอดินบะระ (University of Edinburgh) และมหาวิทยาลัยเฮเรียต-วัตต์ (Heriot-Watt University) แห่งสหราชอาณาจักร ที่เชื่อว่า Face Shield ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 อย่างมากเมื่อใช้ร่วมกับหน้ากากปกติ
งานวิจัยตีพิมพ์รายงานชื่อ Face Coverings, Aerosol Dispersion and Mitigation of Virus Transmission Risk หรือ การปกปิดใบหน้า การแพร่กระจายของไอละอองแขวนลอย และการลดความเสี่ยงของการแพร่ไวรัส ยังแนะนำให้มีการติดตั้งแผงป้องกันส่วนบุคคลซึ่งเป็นแผ่นพลาสติกใสระหว่างที่นั่งบนเครื่องบิน ซึ่งเมื่อดำเนินการคู่กับการบังคับให้สวมใส่หน้ากาก และการทำความสะอาดแผงกั้นนี้เป็นประจำแล้วเชื่อว่าจะทำให้ความเสี่ยงการติดเชื้อลดลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดได้
เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กาตาร์ แอร์เวย์ส กลายมาเป็นสายการบินแห่งแรกที่บังคับให้ผู้โดยสารต้องใช้ Face Shield ควบคู่กับหน้ากากหรือวัสดุปกปิดหน้าอื่นๆ สำหรับผู้โดยสารในชั้นประหยัด โดยแจกอุปกรณ์ดังกล่าวให้ฟรีและต้องสวมใส่ตลอดเวลา ยกเว้นเวลารับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม ขณะที่ผู้โดยสารในชั้นธุรกิจสามารถเลือกสวม Face Shield ตามอัธยาศัยขณะอยู่ในห้องโดยสาร เนื่องจากมีพื้นที่ส่วนตัวสูงกว่า แต่ทุกคนต้องใส่ขณะขึ้นและลงเครื่องเสมอ
และในเดือนนี้เอง สายการบิน ฟิลิปปินส์ แอร์ไลน์ส ได้ออกมาตรการเดียวกันนี้มา และคาดกันว่า สายการบินอื่นๆ จะปฏิบัติตามในไม่ช้านี้แล้ว
แต่แม้ระบบการป้องกันต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ทำให้นักเดินทางรู้สึกปลอดภัยขึ้นในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ยังดำเนินอยู่ ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว คงยังไม่อาจเลือกที่จะเดินทางพร้อมอุปกรณ์ทุกอย่าง โดยรู้สึกอุ่นใจได้ อย่างน้อยจนกว่าการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 จะสำเร็จ หรือมีวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ๆ เพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพได้
August 21, 2020 at 07:30AM
https://ift.tt/3l5eq0A
นักวิทยาศาสตร์พบ โอกาสติดเชื้อโควิด-19 บนเครื่องบินต่ำกว่าที่คิด - วีโอเอไทย - VOA Thai
https://ift.tt/2wcicAM
Bagikan Berita Ini
0 Response to "นักวิทยาศาสตร์พบ โอกาสติดเชื้อโควิด-19 บนเครื่องบินต่ำกว่าที่คิด - วีโอเอไทย - VOA Thai"
Post a Comment